ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) ต่อมลูกหมากอักเสบ พบได้ในผู้ชายทุกวัย พบบ่อยในช่วงอายุ 36-50 ปี และอาจพบได้ตั้งแต่วัยหนุ่ม
แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
สาเหตุ
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน (acute bacterial prostatitis) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ เช่น อีโคไล (Escherichia coli) สูโดโมแนส (pseudomonas) โพรเทียส (proteus) เป็นต้น โดยเชื้อผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปในต่อมลูกหมาก หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือท่อปัสสาวะอักเสบ (เชื้อลุกลามเข้าไปในต่อมลูกหมาก) รวมทั้งหนองใน และหนองในเทียม
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย (chronic bacterial prostatitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการสวนปัสสาวะ หรือเชื้อแพร่กระจายมาจากโรคติดเชื้อในบริเวณอื่น หรือจากการได้รับบาดเจ็บต่อทางเดินปัสสาวะ (เช่น ขี่ม้า ปั่นจักรยาน)
2. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย (chronic nonbacterial prostatitis) พบว่าต่อมลูกหมากมีการอักเสบโดยตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดของโรคต่อมลูกหมากอักเสบ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ กัน เช่น
อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการเพาะเชื้อตามห้องปฏิบัติการทั่วไป เช่น ไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย (เช่น Chlamydia trachomatis, Ureaplasma urealyticum)
ปัสสาวะไหลย้อนเข้าไปในต่อมลูกหมาก เช่น มีภาวะอุดกั้นจากต่อมลูกหมากโต นิ่วต่อมลูกหมาก ท่อปัสสาวะตีบ การยกของหนักขณะที่มีปัสสาวะคั่งกระเพาะ (ปวดปัสสาวะ) หรือมีความผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เป็นต้น ทำให้เกิดแรงดันให้ปัสสาวะไหลย้อน ต่อมลูกหมากเกิดการระคายเคืองและอักเสบจากสารเคมีในปัสสาวะ
ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ
การแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา
ภาวะกรดยูริกสูง ทำให้กรดยูริกในปัสสาวะเข้าไประคายเคืองต่อต่อมลูกหมากจนเกิดการอักเสบ
อาการ
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดก้นกบ หัวหน่าว ฝีเย็บ (บริเวณระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก) มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย รู้สึกแสบร้อนเวลาถ่ายหรือหลังถ่ายปัสสาวะ มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีและรู้สึกคล้ายถ่ายไม่สุด ปัสสาวะขุ่น บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ หรือมีอาการเจ็บปวดขณะหลั่งน้ำกาม
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ทั้งชนิดติดเชื้อและไม่ติดเชื้อแบคทีเรียมีอาการคล้ายกัน คือ มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ด้วยอาการปวดก้นกบ หัวหน่าว อวัยวะเพศ ฝีเย็บ เจ็บปวดขณะหลั่งน้ำกาม ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย รู้สึกแสบร้อนเวลาถ่ายหรือถ่ายปัสสาวะ มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที และรู้สึกคล้ายถ่ายไม่สุด เวลาจะถ่ายต้องใช้เวลาเบ่งอยู่นานกว่าจะออก ปัสสาวะไม่พุ่ง บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
ในรายที่เป็นชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีไข้ต่ำ ๆ และมีโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะกำเริบซ้ำได้บ่อย
ส่วนในรายที่เป็นชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย จะไม่มีไข้ และไม่มีประวัติโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อน
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที อาจเกิดฝีต่อมลูกหมาก ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือถ่ายปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ
นอกจากนี้ อาจพบว่ากลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย กรวยไตอักเสบ มีบุตรยาก (เนื่องจากท่อปัสสาวะมีแผลเป็นและตีบ ขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิ)
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่จะมีช่วงที่มีอาการสลับกับช่วงที่ไม่มีอาการ นานเป็นแรมปีหรือตลอดชีวิต อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล และกระทบต่อคุณภาพชีวิต
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ปัสสาวะขุ่น บางรายพบว่ามีเลือดปน
เมื่อใส่ถุงมือใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก มักพบว่าบริเวณต่อมลูกหมากจะออกร้อนและเจ็บปวดมากเมื่อคลำถูก
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางรายอาจพบว่ามีไข้ต่ำ ๆ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ อาจพบเม็ดเลือดแดงร่วมด้วย) ตรวจเลือดพบจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อมักพบเชื้อที่เป็นสาเหตุ บางรายแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจดูทางเดินปัสสาวะด้วยอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจน้ำเมือกจากต่อมลูกหมาก มักจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ และถ้าเป็นชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย มักตรวจพบเชื้อจากการนำน้ำเมือกจากต่อมลูกหมากหรือปัสสาวะไปเพาะเลี้ยง
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน นอกจากให้ยาบรรเทาอาการแล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ก่อโรค เช่น โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาปฏิชีวนะ หลังไข้ลดแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นยาชนิดกิน
ควรให้ยาปฏิชีวนะนานประมาณ 30 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
2. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น บรรเทาอาการปวดด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 2-3 ครั้ง ให้ยาแก้ปวด หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (เช่น พราโซซิน ดอกซาโซซิน) หรือไฟนาสเตอไรด์
ถ้าตรวจพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินแบบเดียวกับต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากโรคนี้อาจกำเริบได้อีก หลังการรักษาควรติดตามดูอาการเป็นระยะ ถ้ามีการติดเชื้อกำเริบขึ้นใหม่ก็ให้ยาปฏิชีวนะกินซ้ำได้อีก
ในรายที่ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย ก็มักจะให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยบางราย หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (โดยที่ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย) ก็อาจพิจารณาลองให้ยาปฏิชีวนะ
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย รู้สึกแสบร้อนเวลาถ่ายหรือหลังถ่ายปัสสาวะ มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ หรือมีอาการเจ็บปวดขณะหลั่งน้ำกาม ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมลูกหมากอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
นั่งแช่น้ำอุ่นจัด ๆ บริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน
ดื่มน้ำมาก ๆ
หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารรสเผ็ดจัด ซึ่งอาจระคายต่อกระเพาะปัสสาวะ
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนต่อมลูกหมาก เช่น การนั่งนาน ๆ การปั่นจักรยาน การขี่ม้า การยกของหนักขณะปวดปัสสาวะ เป็นต้น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ส่วนหนึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
สำหรับสาเหตุจากการติดเชื้อที่ลุกลามมาจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ หนองใน หรือหนองในเทียม ควรป้องกันด้วยการรักษาโรคเหล่านี้ให้หายขาด
ข้อแนะนำ
1. ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น คล้ายกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน แต่ต่างกันตรงที่ต่อมลูกหมากอักเสบ ไม่มีอาการเคาะเจ็บตรงสีข้าง และมีอาการขัดเบาคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ต่างกันตรงที่ต่อมลูกหมากอักเสบมีไข้สูงหนาวสั่น
ถ้าผู้ชายมีอาการไข้สูงร่วมกับขัดเบา โดยไม่มีอาการเคาะเจ็บตรงสีข้าง ควรนึกถึงต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันมากกว่ากรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ หากสงสัยก็ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วและควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง หลังจากอาการหายเป็นปกติแล้ว ควรติดตามตรวจปัสสาวะและ/หรือน้ำเมือกจากต่อมลูกหมากเป็นระยะ (เช่น ทุก 3-6 เดือน) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังหรือกรวยไตอักเสบเรื้อรัง
2. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มีอาการปัสสาวะลำบากคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก ต่างกันตรงที่ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังมักมีอาการปวดบริเวณก้นกบ หัวหน่าว อวัยวะเพศ ฝีเย็บ และเจ็บปวดขณะหลั่งน้ำกาม มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง และมักพบในผู้ชายอายุน้อยกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าพบผู้ชายมีอาการปัสสาวะลำบากก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทุกราย
3. ผู้ชายที่มีอาการแบบต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย หากตรวจไม่พบร่องรอยของการติดเชื้อและการอักเสบของต่อมลูกหมาก อาจเป็นภาวะที่เรียกว่าต่อมลูกหมากอักเสบเทียม (prostatodynia/noninflammatory chronic pelvic pain syndrome) ก็ได้ โรคนี้มักพบว่าเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อยหรือเริ่มเข้าวัยหนุ่ม และมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือตลอดชีวิต เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเชิงกราน อันเกิดจากภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า (คล้ายโรคปวดศีรษะจากความเครียด) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ และการหลั่งน้ำกาม อาการอาจกำเริบหลังนั่งนาน ๆ (เช่น ขับรถ) สวมใส่กางเกงคับ หรือเข็มขัดรัดแน่นเกินไป โรคนี้ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น นั่งแช่น้ำอุ่นจัด ๆ บริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน ในรายที่มีความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ให้ยาทางจิตประสาท และฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ