หมอประจำบ้าน: สมองพิการ (Cerebral Palsy)Cerebral Palsy หรือสมองพิการ เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับทารกหรือเด็กเล็ก โดยเกิดขึ้นเมื่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ ได้รับความเสียหาย หรือมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหวร่างกายไปตลอดชีวิต
อาการของ Cerebral Palsy
อาการของผู้ป่วย Cerebral Palsy อาจมีความรุนแรงมากหรือน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งมีอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป เช่น
พัฒนาการล่าช้า เช่น อายุ 8 เดือนแต่ยังนั่งไม่ได้ อายุ 18 เดือนแต่ยังเดินไม่ได้ รวมถึงพัฒนาการทางการพูดช้ากว่าปกติ เป็นต้น
ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้จนทำให้เสียการทรงตัว เคลื่อนไหวน้อย น้ำลายไหลมาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้แม้ถึงวัยที่ควรทำได้ เป็นต้น
อาจมีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้
ปัญหาทางการมองเห็นและการได้ยิน หรืออาจมีอาการตาเหล่ร่วมด้วย
ปัญหาทางการสื่อสาร การพูดและการใช้ภาษา
การรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ อย่างความรู้สึกเจ็บ
ทั้งนี้ ตำแหน่งของสมองที่ได้รับความเสียหายจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันออกไป และสมองพิการอาจแบ่งเป็นหลายชนิด ดังนี้
Cerebral Palsy ชนิดหดเกร็ง เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย Cerebral Palsy ทั้งหมด โดยกล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งและมีปัญหาในการเดิน เช่น เดินแล้วขาหรือหัวเข่าไขว้กัน เป็นต้น และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตได้ ซึ่งอาจส่งผลเพียงครึ่งซีกด้านซ้ายหรือขวา หรือมักส่งผลที่ขา 2 ข้างมากกว่าแขนทั้ง 2 ข้าง ใบหน้า หรือทั้งร่างกาย
Cerebral Palsy ชนิดกระตุก ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อแข็งตึงหรืออ่อนแรงสลับกันไปมา ซึ่งอาจทำให้มีอาการชักหรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้
Cerebral Palsy ชนิดเดินเซ เป็นชนิดที่พบได้น้อย โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาในการทรงตัว สมดุลร่างกาย และการประสานงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมด้วย
Cerebral Palsy ชนิดผสม ผู้ป่วยบางรายอาจมีสมองพิการมากกว่า 1 ชนิดเกิดขึ้นร่วมกัน
ส่วนผู้ป่วยเด็กที่เป็น Cerebral Palsy เมื่อเด็กโตขึ้นอาการต่าง ๆ มักจะไม่แย่ลงตามกาลเวลา แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสมและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้น หากสงสัยหรือพบว่าลูกน้อยมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว การรับรู้ การทำงานของกล้ามเนื้อ การทรงตัว การกลืน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
สาเหตุของ Cerebral Palsy
โรค Cerebral Palsy เกิดขึ้นเมื่อเซเรบรัลคอร์เทกซ์ (Cerebral Cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้รับความเสียหายหรือมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ มักเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ แต่ก็อาจเกิดขึ้นในระหว่างคลอดหรือหลังคลอดได้เช่นกัน แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่ก็มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกได้ เช่น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อสมองของทารกก่อนคลอด ได้แก่
ปัญหาสุขภาพและการติดเชื้อของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคซิฟิลิส การติดเชื้อไวรัสซิกา การติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโลโวรัส โรคท็อกโซพลาสโมซิส เป็นต้น
ภาวะสมองผิดปกติในส่วนเนื้อเยื่อสมองสีขาวที่อาจเกิดจากทารกได้รับเลือดและออกซิเจนน้อยลง
โรคหลอดเลือดสมองในทารก ซึ่งทำให้มีเลือดออกภายในสมองของทารก หรือทำให้ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
อุบัติเหตุที่ทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์
การกลายพันธุ์หรือความผิดปกติของพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมอง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อสมองของทารกระหว่างคลอดหรือหลังคลอด ได้แก่
สมองขาดออกซิเจนชั่วคราว ซึ่งอาจเกิดจากการคลอดหรือการสำลักน้ำคร่ำ จนทำให้สมองของเด็กได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ปัญหาสุขภาพและการติดเชื้อของทารก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ ภาวะดีซ่านอย่างรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษา เป็นต้น
สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่
การคลอดก่อนกำหนด
ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย
การตั้งครรภ์ทารกแฝด หรือมีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
มารดาตั้งครรภ์ขณะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
มารดาที่มีระดับความดันโลหิตสูงหรือต่ำมากผิดปกติขณะตั้งครรภ์
หมู่เลือดอาร์เอชของมารดาและทารกไม่ตรงกัน
การคลอดท่าก้น ซึ่งอาจทำให้คลอดยาก
การวินิจฉัย Cerebral Palsy
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากการซักประวัติ ประเมินอาการ ตรวจร่างกาย ถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างคลอดหรือหลังคลอด และอาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
การสแกนสมอง เพื่อตรวจและประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมอง โดยอาจตรวจด้วยการสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การอัลตราซาวด์ศีรษะ และหากผู้ป่วยมีอาการชัก แพทย์อาจตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองร่วมด้วย
การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม กระบวนการทำงานของร่างกาย หรือตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคสมองพิการ
การตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจความผิดปกติทางการมองเห็น การได้ยิน การพูด หรือการเคลื่อนไหว ตรวจความบกพร่องทางสติปัญญา รวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้าด้านอื่น ๆ เป็นต้น
การรักษา Cerebral Palsy
สำหรับผู้ป่วย Cerebral Palsy หากยิ่งได้รับการรักษาเร็วก็จะยิ่งส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น แม้จะไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่อาจช่วยปรับปรุงขีดความสามารถด้านต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงความเป็นปกติมากที่สุด โดยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทีมแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การบำบัดรักษา เช่น
กายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ การทรงตัว การเคลื่อนไหว และป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อ
กิจกรรมบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายส่วนบน ปรับปรุงท่าทาง และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การแต่งตัว การเข้าห้องน้ำ การไปโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ กิจกรรมบำบัดยังช่วยให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองในอนาคต
นันทนาการบำบัด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้ใช้ทักษะทางร่างกาย สติปัญญา และความสามารถของตนเอง ซึ่งผู้ปกครองหรือคนรอบข้างอาจสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการพูด ความมั่นใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อรรถบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะการพูดและการสื่อสารของผู้ป่วย โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ ประกอบการบำบัด เช่น ภาพ สัญลักษณ์ ภาษากาย หรือคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องสังเคราะห์เสียง เป็นต้น
การปรับปรุงวิธีรับประทานอาหาร ด้วยการฝึกบริหารลิ้นและการกลืนอาหาร รวมทั้งอาจเปลี่ยนให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดสารอาหารและการสำลักที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ปอด
การรักษาอาการน้ำลายไหล เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วย Cerebral Palsy หากน้ำลายไหลมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังรอบปากและอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ ซึ่งอาจรักษาด้วยการบริหารกล้ามเนื้อปากและลิ้น หรือการใช้ยา เช่น ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกหรือยาโบทูลินัมท็อกซิน เป็นต้น เพื่อลดการผลิตน้ำลาย รวมถึงอาจผ่าตัดต่อมน้ำลายเพื่อเปลี่ยนทิศทางให้น้ำลายไหลเข้าไปข้างในปาก
การรักษาโดยใช้ยา เช่น
ยาคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย เช่น ยาไดอาซีแพม ยาบาโคลเฟน ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล เป็นต้น
ยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ จากโรค Cerebral Palsy เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก ยาระบาย ยาบรรเทาอาการปวด เป็นต้น
การผ่าตัด เช่น
การผ่าตัดข้อและกระดูก เพื่อแก้ไขข้อและกระดูกของแขน ขา หรือสะโพกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง รวมถึงช่วยยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่สั้นเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อหดรั้ง มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้อแข็งเกร็งอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เกิดปัญหาหรืออาการเจ็บปวดในขณะเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย
การตัดรากเส้นประสาท มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่เป็นผล โดยวิธีการนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการปวดบริเวณซี่โครง หรืออาจผ่าตัดแก้ไขปัญหากระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไปด้วย แต่การผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น สูญเสียความรู้สึก มีอาการชา หรือรู้สึกอึดอัดบริเวณซี่โครงหลังรับการผ่าตัดรากเส้นประสาท เป็นต้น
การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น แว่นตา แว่นขยาย เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์ช่วยพยุง วีลแชร์ เป็นต้น รวมทั้งกายอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Cerebral Palsy
โรค Cerebral Palsy อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น
การรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยบกพร่องทางการสัมผัสและการรับรู้อาการเจ็บปวด
ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องผูก ลำไส้อุดตัน เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในการควบคุมระบบประสาทส่วนกลางที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ความพิการทางร่างกาย การทำงานของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หรือการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
ความผิดปกติทางการมองเห็น เช่น ตาเหล่ หรือตาบอดครึ่งซีก เป็นต้น และ 8-18 เปอร์เซ็นของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่สมองพิการอาจมีปัญหาทางการได้ยินร่วมด้วย
ความบกพร่องของช่องปาก อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น บกพร่องในการสื่อสาร มีน้ำลายไหลตลอดเวลา ขาดสารอาหาร หรือมีความผิดปกติของขากรรไกร เป็นต้น
ความผิดปกติของกระดูก มวลกระดูกจะลดลงในผู้ป่วยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก กระดูกสันหลังคด หรือมีอาการปวดได้
ปัญหาทางจิต 2 ใน 3 ของผู้ที่สมองพิการจะบกพร่องทางสติปัญญา โดยอาจเป็นโรคประสาทหรือมีปัญหาทางจิตร่วมด้วย
กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากมีความบกพร่องด้านการควบคุมกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
การป้องกัน Cerebral Palsy
โรค Cerebral Palsy ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและป้องกันโรคนี้จากบางสาเหตุได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
การป้องกันตั้งแต่ในครรภ์มารดา เช่น
รับวัคซีนให้ครบ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคหัดเยอรมันหรือโรคอีสุกอีใสที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่สมองของทารกในครรภ์
ฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ การติดเชื้อของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ภาวะทารกมีน้ำหนักตัวน้อย และการคลอดก่อนกำหนดที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์
ดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสมองของทารกในครรภ์ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังเมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมี เป็นต้น
การป้องกันในเด็ก เช่น
ป้องกันการกระทบกระเทือนต่อสมอง เช่น ให้เด็กใช้คาร์ซีท สวมหมวกกันน็อก หรือคาดเข็มขัดนิรภัยในขณะเดินทางเสมอ เป็นต้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อศีรษะของเด็กจนส่งผลให้สมองพิการ
ดูแลสุขภาพเด็ก ปรึกษาแพทย์เพื่อปฏิบัติตามแนวทางป้องกันภาวะดีซ่านหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก และให้เด็กรับวัคซีนครบตามที่แพทย์กำหนด