หมอออนไลน์: มะเร็งกระดูก (Bone cancer)มะเร็งกระดูก ในที่นี้หมายถึงมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อของกระดูกเอง (ไม่หมายรวมถึงมะเร็งที่แพร่มาจากอวัยวะอื่น) เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด และมะเร็งกระดูกในเด็กพบได้ร้อยละ 3-5 ของมะเร็งที่พบในเด็กทั้งหมด) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
มะเร็งกระดูกมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) ซึ่งพบมากในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-20 ปี ส่วนน้อยเป็นมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (chrondosarcoma) ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี นอกนั้นอาจพบมะเร็งของเซลล์ชนิดอื่น ๆ
ตำแหน่งมะเร็งกระดูกที่แขน
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ พบว่าผู้ที่เป็นโรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น Li-Fraumeni syndrome, มะเร็งลูกตาในเด็ก (retinoblastoma) เป็นต้น มีโอกาสเป็นมะเร็งกระดูกมากขึ้น
โรคกระดูกบางชนิด เช่น โรคพาเจตของกระดูก (Paget's disease of bone เป็นภาวะผิดปกติของเนื้อเยื่อกระดูก ทำให้กระดูกหนา และเปราะแตกหักง่าย) ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) ประมาณร้อยละ 1
การมีประวัติเคยได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งชนิดอื่นมาก่อน
อาการ
อาการแรกเริ่ม คืออาการปวดกระดูกตอนกลางคืน หรือตอนมีการใช้งานของแขนขา ซึ่งมักจะเป็นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาจะพบว่ามีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ส่วนใหญ่พบที่กระดูกขา (บริเวณรอบ ๆ เข่า) และกระดูกแขน ส่วนน้อยพบที่บริเวณอื่น
บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหรือหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งเซลล์กระดูกอาจแพร่กระจายไปที่ปอด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย
ภาวะแทรกซ้อน
ทำให้มีอาการเจ็บปวด กระดูกหัก ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
มะเร็งแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น ที่พบบ่อยคือไปที่ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ สแกนกระดูก และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก ถ้ามะเร็งมีขนาดเล็กจะทำการผ่าตัดกระดูกเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แล้วนำเนื้อเยื่อกระดูกปกติหรือกระดูกเทียมมาใส่แทน แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นมะเร็งออกไป แล้วใส่แขนหรือขาเทียม
แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว หรือทำการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด และ/หรือรังสีบำบัด ตามชนิดและระยะของโรค
สำหรับมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด และให้เคมีบำบัดก่อนและหลังการผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมากำเริบใหม่ ส่วนรังสีบำบัดแพทย์จะเลือกใช้ในบางกรณี
สำหรับมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (chrondosarcoma) แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด อาจใช้รังสีบำบัดก่อนและหลังผ่าตัด มักจะไม่ใช้เคมีบำบัด เนื่องเพราะใช้ไม่ได้ผลในการรักษามะเร็งชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่ ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้แพทย์จะรักษาด้วยใช้รังสีบำบัดเป็นหลัก
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
ในรายที่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (ซึ่งพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว) ระยะที่ยังไม่ลุกลาม มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 60-80 แต่ถ้ากระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น (พบบ่อยที่ปอด) มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 15-30
ส่วนรายที่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี) ส่วนใหญ่มักจะลุกลามช้าและไม่แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัดได้ มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 80
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดกระดูกนานเป็นสัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ, มีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ที่กระดูกแขนขาหรือที่อื่น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
ขาดยาหรือยาหาย
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่มีอาการปวดกระดูกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
2. ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหรือหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไป หากสงสัยควรทำการตรวจเพิ่มเติมให้แน่ชัด
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี