ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: ดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ในที่ทำงานการทำงานในยุคโควิด-19 (COVID-19) ที่หลายคนอาจต้องปรับตัวกับการทำงานที่บ้าน แต่ก็มีพนักงานจำนวนไม่น้อยยังต้องเดินทางมาทำงานทุกวัน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเดินทางไป-กลับและระหว่างการทำงาน การดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการหายใจเอาเชื้อที่มีอยู่ในอากาศ หรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำมือมาสัมผัสดวงตา จมูก และปากของตนเอง ซึ่งการเดินทางไปทำงานโดยใช้รถสาธารณะและการทำงานในอาคารที่มีคนพลุกพล่านอาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว มาเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 กันในบทความนี้
5 คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องไปทำงาน
การรักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้ในที่ทำงาน รวมทั้งการสังเกตอาการของตัวเองเป็นประจำ นอกจากจะช่วยป้องกันความเสี่ยงของตัวเองจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. เดินทางไปทำงานอย่างปลอดภัย
เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทุกวัน และหมั่นสังเกตอาการของตัวเองก่อนออกไปทำงาน หากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือมีอาการป่วยที่อาจเป็นอาการของโควิด-19 อย่างมีไข้ ไอ และหายใจไม่อิ่ม ยังไม่ควรออกไปทำงาน และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ
การเดินทางไปทำงานด้วยรถสาธารณะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าการโดยสารรถส่วนตัว แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยสารสาธารณะได้ ควรระมัดระวังความสะอาดเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการจับห่วง เสา หรือราวในรถสาธารณะ ล้างมือทั้งก่อนและหลังการเดินทาง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาโดยสาร และพยายามอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร
หลังกลับจากทำงาน ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ถอดหน้ากากอนามัยและรองเท้าก่อนเข้าบ้าน อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนการสัมผัสหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ไปสู่สมาชิกในครอบครัว
2. รักษาสุขอนามัยของตัวเอง
ดูแลความสะอาดของตัวเองอยู่เสมอโดยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือทดแทนหากไม่สะดวก โดยเฉพาะก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานหรือสัมผัสอาหาร หลังการใช้ลิฟท์โดยสาร และหลังการไอหรือจาม
หากต้องการไอหรือจาม ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดจมูกและปากแล้วทิ้งทิชชู่ลงในถังขยะทันที ในกรณีที่ไม่มีกระดาษทิชชู่อาจไอหรือจามใส่ข้อพับแขนด้านในแทนการใช้มือ และไม่ควรนำมือมาสัมผัสดวงตา จมูก ปาก เพราะอาจทำให้เชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ที่มือเข้าสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ บริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรเตรียมผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือและถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดไว้สำหรับพนักงาน เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
3. เว้นระยะห่างทางสังคม
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้รักษาระยะห่างระหว่างผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร โดยให้พนักงานสลับวันหรือเวลาในการทำงาน หลีกเลี่ยงการประชุมหรือรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก หากจำเป็นต้องจัดประชุมรวมตัวของพนักงาน ควรจัดในสถานที่เปิดที่มีอากาศถ่ายเท จัดที่นั่งให้มีระยะห่าง 1–2 เมตร และกำหนดทิศทางการเดินเข้าไปนั่งให้เป็นทิศทางเดียวหรือไม่เดินสวนทางกัน
นอกจากนี้ พนักงานควรปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมดังต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงการใช้งานพื้นที่ส่วนรวมในเวลาเดียวกัน เช่น ห้องประชุม ห้องพักผ่อน และห้องเก็บของ เป็นต้น
ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานผ่านการใช้โทรศัพท์ อีเมล วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิด
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำรับเดียวกับผู้อื่น โดยรับประทานอาหารจานเดียวหรือใช้ช้อนกลางส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ
หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์โดยสารพร้อมกันจำนวนมาก และเว้นระยะห่างระหว่างกันขณะใช้ลิฟท์
4. ทำความสะอาดของใช้ในสำนักงาน
สิ่งของที่พนักงานใช้ร่วมกันมักเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ง่าย อย่างลูกบิดหรือที่จับประตูทางเข้าออก โต๊ะ เก้าอี้ในห้องครัว ห้องพักผ่อน และห้องประชุม จึงควรมีการทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 นาที แล้วเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด
ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่มีพื้นผิวเป็นโลหะและอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ และตู้เย็น สามารถใช้ แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ ทําความสะอาดแทนการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่อาจมีฤทธิ์กัดกร่อนพื้นผิว และควรใช้ผ้าคลุมป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคเมื่อไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ จะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย
5. สังเกตอาการของตัวเองเป็นประจำ
การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าทำงานอาจช่วยคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอาการเข้าข่ายของโรคโควิด-19 ได้ แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ หรืออาจรับประทานยาลดไข้ก่อนมาทำงาน นอกจากนี้ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิบางแห่งอาจไม่ได้มาตรฐาน การตรวจวัดอุณหภูมิจึงช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการในเบื้องต้นเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสุขอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ไปสู่ผู้อื่นได้ดีขึ้น หากมีไข้ ไอ หายใจไม่อิ่ม หรือมีอาการอื่นที่เข้าข่ายการติดเชื้อโควิด-19 ควรแจ้งให้ที่ทำงานทราบ เพื่อพักผ่อนอยู่ที่บ้าน สังเกตอาการและตรวจวัดอุณหภูมิตัวเองสม่ำเสมอ โดยไม่ควรวัดอุณหภูมิหลังออกกำลังกายหรือหลังรับประทานยาลดไข้เป็นเวลา 30 นาที และหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และสีผิวเปลี่ยนไป ควรไปพบแพทย์ทันที
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดความกังวลเมื่อต้องกลับไปทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันตัวเองจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ในที่ทำงานและลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร็วขึ้น