ตรวจสุขภาพ: โรคด่างขาว (Vitiligo)โรคด่างขาว เป็นภาวะที่ผิวหนังบางส่วนกลายเป็นรอยด่างขาว เนื่องจากผิวหนังในบริเวณนั้นไม่มีเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) จึงไม่สามารถสร้างเม็ดสี (pigment) ได้เป็นปกติเช่นเดียวกับผิวหนังส่วนที่อยู่โดยรอบ
พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของคนทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี
บางครั้งอาจเกิดร่วมกับโรคภูมิต้านตัวเอง (autoimmune diseases) เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะขาดไทรอยด์ เบาหวานชนิดที่ 1 โรคแอดดิสัน ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เอสแอลอี โซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) โรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (pernicious anemia ซึ่งเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะ) เป็นต้น
ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย อาจพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย
สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง กล่าวคือ ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีต่อเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีตาย หรือสร้างเม็ดสี (melanin) ได้น้อยลง) ทำให้ผิวหนังกลายเป็นด่างขาว
นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่น ๆ เช่น อาจมีการกระตุ้นปลายประสาท ทำให้มีการหลั่งสารที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีหรือในกระบวนการสร้างเม็ดสี, หรืออาจมีการสะสมของเมตาบอไลต์ (metabolite) บางอย่างที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี
ความผิดปกติของการสร้างเม็ดสี นอกจากเกิดที่ผิวหนังแล้วยังอาจเกิดที่เยื่อเมือกในจมูกและช่องปาก เนื้อเยื่อจอตา และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย
อาการ
เป็นผื่นราบสีขาว ขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างไม่แน่นอน และมีขนาดต่าง ๆ กันไปตั้งแต่ 1 ซม. ถึง 10 ซม. ซึ่งอาจเกิดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของผิวกายก็ได้ แต่มักจะเริ่มเกิดตรงบริเวณที่สัมผัสถูกแสงแดด เช่น ใบหน้า ริมฝีปาก แขน มือ และหลังเท้า โดยมักจะมีลักษณะการกระจายตัวทั้ง 2 ข้างของร่างกายสมมาตรกัน (เช่น ขึ้นที่หลังมือพร้อมกันทั้งซ้ายและขวา) ขอบของวงด่างขาวจะมีลักษณะโค้งหรือนูนออก จึงทำให้ผิวหนังส่วนที่ปกติที่อยู่โดยรอบมีลักษณะตรงกันข้าม คือ เว้าเข้า ขนหรือผมที่ขึ้นอยู่ในรอยด่างขาวจะกลายเป็นสีขาวเช่นกัน
เมื่อถูกแดด มักจะมีอาการแพ้แดดได้ง่าย ทำให้รอยด่างขาวออกแดงและแสบร้อนได้
แต่โดยปกติจะไม่มีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนแต่อย่างใด และยังมีการรับรู้ความรู้สึกได้เป็นปกติ (รู้สึกเจ็บเมื่อถูกเข็มแทง)
รอยด่างขาวมักจะลามออกไปอย่างช้า ๆ บางรายจะเป็นเฉพาะที่ บางรายอาจมีรอยด่างขาวกระจายไปเกือบทั่วตัว
ผู้ป่วยอาจมีผม คิ้ว ขนตา และหนวดเครางอกขาว ซึ่งมักเกิดตั้งแต่อายุยังน้อย และมีรอยด่างขาวที่เยื่อเมือกในจมูกและช่องปากร่วมด้วย
บางรายพบว่ารอยด่างขาวสามารถหายได้เองหลังจากเป็นอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี ซึ่งก็พบได้เป็นส่วนน้อย
ภาวะแทรกซ้อน
เกิดความรู้สึกว่าไม่สวยงาม ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอายหรือมีปมด้อย
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้จากการถูกแดด (sunburn) ง่าย และยังมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเป็นโรคตา (เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ) หูตึงจากประสาทหูเสื่อม
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
บางรายแพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อของผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอาจทำการตรวจเลือดดูว่ามีปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง (ออโตอิมมูน) หรือไม่
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าเป็นไม่มาก ไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
แต่ถ้าเป็นมากหรือลุกลามจนน่าเกลียด แพทย์อาจให้ยารักษา ได้แก่ ซอลาเรน (psolaren) ซึ่งมีทั้งชนิดกินและทา
สำหรับชนิดกิน ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 3 เม็ด ในตอนเช้าก่อนจะอาบแดด 2 ชั่วโมง แล้วจึงให้ผิวหนังส่วนที่เป็นด่างขาวอาบแดด (ควรจะเป็นช่วง 09.00 นาฬิกา) ในวันแรกควรอาบนาน 5 นาทีก่อน แล้วครั้งต่อไปค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีกวันละ 5 นาที จนกระทั่งนานเป็น 15-30 นาที ควรทำสัปดาห์ละ 3 วัน
สำหรับชนิดทา มีชนิด 1% ซึ่งแรงไป ควรใช้น้ำผสมเจือจางเป็น 0.1% (ใช้ยา 1 ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วน) แล้วใช้พู่กันเล็ก ๆ ทาเฉพาะที่เป็น ทิ้งไว้สัก 1/2-1 ชั่วโมง แล้วจึงอาบแดดตามวิธีดังกล่าว
ควรระวังอย่าอาบแดดนานเกินไป อาจทำให้ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำได้ อาจต้องใช้ครีมสเตียรอยด์ทาหลังอาบแดดเพื่อป้องกันมิให้ผิวหนังพอง
ถ้ามีตุ่มพอง ควรหยุดใช้ซอลาเรน แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์จนกว่าจะหาย แล้วจึงเริ่มใช้ซอลาเรนใหม่ แต่ควรลดเวลาอาบแดดลง
ถ้าได้ผล ผิวหนังส่วนนั้นจะเริ่มแดงก่อน ต่อมาจะมีสีคล้ำ โดยเริ่มจากบริเวณรอบ ๆ ขนก่อน แล้วจะค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป
ในรายที่ไม่สะดวกที่จะใช้วิธีอาบแดด แพทย์อาจใช้วิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) แทนการอาบแดด
ระยะเวลาของการรักษา อาจนานถึง 2-3 ปี บางรายหลังหยุดยา ผิวสีอาจกลับขาวได้อีก
บางราย หากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีรอยด่างขาวตามผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคด่างขาว ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น การออกกลางแดดจ้าหรือถูกแดดมากเกินไป (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ทายากันแดด), การสัมผัสสารเคมี, ความเครียด เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการซื้อยาที่นอกเหนือจากที่แพทย์แนะนำมาใช้เอง
หลีกเลี่ยงการสักบนผิวหนังตามร้านสักทั่วไป อาจทำให้โรคลุกลามมากขึ้นได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย และดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
1. ควรแยกโรคด่างขาวออกจากเกลื้อน โรคเรื้อน และกลากน้ำนม โดยที่โรคด่างขาวมักจะขึ้นกระจายคล้ายคลึงกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มีขอบเขตชัดเจน ไม่คัน ไม่ชา (เข็มแทงจะรู้สึกเจ็บ) และมักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต
เกลื้อนมักขึ้นเป็นรอยแต้ม ๆ มีสีต่าง ๆ มีขุยบาง ๆ และหลุดออกเมื่อใช้เล็บขูด เมื่อใช้ยารักษาเกลื้อนก็มักจะหายได้เป็นพัก ๆ
โรคเรื้อนจะเป็นวงด่างซึ่งจะไม่มีขน ไม่มีเหงื่อ และชา (หยิกหรือเข็มแทงไม่เจ็บ)
ส่วนกลากน้ำนม มักพบในเด็กและวัยรุ่น วงด่าง มีขอบเขตไม่ชัดเจนและมีขุยบาง ๆ เมื่อโตขึ้นจะหายได้เอง
2. โรคด่างขาวไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่ติดต่อให้ผู้อื่น
3. โรคนี้บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคภูมิต้านตัวเองอื่น ๆ (เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคแอดดิสัน ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เอสแอลอี เป็นต้น) และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาและหู นอกจากดูแลรักษาโรคด่างขาวแล้ว แพทย์จะทำการตรวจดูโรคเหล่านี้ หากพบก็จะให้การดูแลรักษาพร้อมกันไปด้วย