เว็บลงโฆษณาฟรี โพสฟรี รองรับ SEO ทุกหมวดหมู่ > เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis
(1/1)
siritidaphon:
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
การอักเสบของคอหอยและทอนซิล มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ (ตรวจอาการ เจ็บคอ ประกอบ)
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการอักเสบจากโรคติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus)* ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
* เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Streptococcus pyogenes
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิด บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่หลายชนิด เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด
เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ คือ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี และอาจพบในผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ตามโรงเรียน หอพัก เป็นต้น
ระยะฟักตัว 2-7 วัน
อาการ
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส จะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ไม่เจ็บตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส
ภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
1. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล (peritonsillar abscess) ซึ่งอาจโตจนทำให้กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก
2. เชื้ออาจแพร่เข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
3. โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune reaction) สำหรับไข้รูมาติกมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยซึ่งมักจะมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน อาจพบมีน้ำมูกใส ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ)
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ จะมีไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม ทอนซิลบวมโต มีสีแดงจัด และมักมีแผ่นหรือจุดหนองขาว ๆ เหลือง ๆ อยู่บนทอนซิล ซึ่งเขี่ยออกง่าย (ถ้าพบเป็นแผ่นเยื่อสีเทาหรือสีเหลืองปนเทา ซึ่งเขี่ยออกยากและมีเลือดออก ควรนึกถึงคอตีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการไอเสียงแหบ หรือหายใจหอบร่วมด้วย) นอกจากนี้อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
ในรายที่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เช่น มีเพียงแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล (ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสบางชนิดก็ได้) โดยอาการอื่น ๆ ไม่ชัดเจน อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม ในปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอจากบริเวณคอหอยและทอนซิล ซึ่งสามารถทราบผลภายในไม่กี่นาที เรียกว่า "Rapid strep test" ถ้าให้ผลบวกก็ให้ยาปฏิชีวนะรักษา แต่ถ้าให้ผลลบอาจต้องทำการเพาะเชื้อ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1-2 วัน
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง
2. ในรายที่เกิดจากไวรัส (ซึ่งจะมีอาการคอหอยและทอนซิลแดงไม่มาก และมักมีอาการน้ำมูกใส ไอ ตาแดง เสียงแหบ หรือท้องเดินร่วมด้วย) ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ก็มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
3. ในรายที่มั่นใจว่าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (ซึ่งจะมีอาการไข้สูงร่วมกับทอนซิลบวมแดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนอง มีต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใต้ขากรรไกรหรือข้างคอด้านหน้า และไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ ตาแดง) นอกจากให้การรักษาตามอาการแล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, อีริโทรไมซิน หรือ ร็อกซิโทรไมซิน) นาน 10 วัน บางรายแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินเพียง 5 วัน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ, อะซิโทรไมซิน หรือ คลาริโทรไมซิน
4. ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น หอบ ปวดและบวมตามข้อ เป็นฝีทอนซิล แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมและให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
5. ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง (ปีละมากกว่า 4 ครั้ง) จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย มีอาการอักเสบของหูชั้นกลางบ่อย หรือก้อนทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy)
ผลการรักษา ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ให้การรักษาตามอาการมักจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
ถ้าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เมื่อกินยาปฏิชีวนะได้ครบตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ากินไม่ครบหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งหากกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือไข้รูมาติก ก็อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะร้ายแรงได้
การดูแลตนเอง
หากมีอาการไข้ร่วมกับเจ็บคอมาก ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นทอนซิลอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ห้ามอาบน้ำเย็น และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน
กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง
กินยาบรรเทาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และกินยาปฏิชีวนะ (ในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย) ให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
ควรกลับไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อนี้
มีอาการผิดสังเกตแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดศีรษะมาก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก ปวดหู หูอื้อ กลืนลำบาก ปวดที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดบวมตามข้อ มีผื่นขึ้นตามตัว เท้าบวม ปัสสาวะสีแดง เป็นต้น
ดูแลรักษา 3-4 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น
หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด เช่น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น คนที่ยังไม่ป่วยอย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. อาการเจ็บคอ คอหอยอักเสบ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส และโรคไม่ติดเชื้อ (เช่น โรคภูมิแพ้ การระคายเคือง โรคน้ำกรดไหลย้อน เป็นต้น) ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้น ถ้าพบคนที่มีอาการเจ็บคอ แพทย์จะซักถามอาการอย่างละเอียด และตรวจดูคอหอยทุกรายเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน จะใช้ยาปฏิชีวนะต่อเมื่อมั่นใจว่าเป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอเท่านั้น หากไม่มั่นใจก็จะส่งตรวจพิเศษ (เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rapid strep test, การเพาะเชื้อ)
2. สำหรับทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ควรเน้นให้กินยาปฏิชีวนะจนครบตามระยะที่กำหนดตามที่แพทย์แนะนำ ถึงแม้หลังให้ยาไป 2-3 วันแล้วอาการเริ่มทุเลาแล้วก็ตาม หากให้ไม่ครบนอกจากทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งแม้จะพบได้น้อยแต่ก็เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง
ผู้ป่วยควรแยกตัว อย่าอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
ในปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องมักได้ผลดี โอกาสที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิลจึงลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
3. ถ้าให้ยาปฏิชีวนะรักษาทอนซิลอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่น รวมทั้งเมลิออยโดซิส ซึ่งพบบ่อยในคนอีสานที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน (ดูเมลิออยโดซิส)
4. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
Go to full version